เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ไทย

สงครามช้างเผือก
หลังจากพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ถูกกลุ่มแม่ทัพมอญลอบปลงพระชนม์  เพื่อชิงราชสมบัติ  บุเรงนองซึ่งปราบกบฎสำเร็จแล้วได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าหงสาวดีได้ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2106  เนื่องจากสมเด็จพระมหาจักรพรรดิไม่ทรงยอมมอบช้างเผือกให้ตามที่ขอมา  บุเรงนองยกทัพมาทางหัวเมืองฝ่ายเหนือผ่านด่านแม่ละเมาและตีเมืองพิษณุโลกได้  ทำให้พระมหาธรรมราชาต้องถวายสัตย์อยู่ข้างฝ่ายหงสาวดี  สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงยอมหย่าศึกกับพระเจ้าบุเรงนอง
          จากเหตุการณ์ในครั้งนี้  ทำให้กรุงศรีอยุธยาต้องมอบช้างเผือกให้แก่พระเจ้าหงสาวดี 4 เชือก  ส่วยช้างปีละ 30 เชือก  เงินปีละ 300 ชั่ง  ภาษีอากรที่เมืองมะริด  และยอมให้นำตัวพระราเมศวร  พระยาจักรีและพระสุนทรสงคราม  ไปกรุงหงสาวดี  บุเรงนองได้แวะเมืองพิษณุโลกและขอพระนเรศวรซึ่งขณะนั้นมีพระชนมายุ 9 พรรษา  ไปเลี้ยงดูที่กรุงหงสาวดีอีกด้วย
สงครามเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1
หลังจากเสร็จสิ้นสงครามช้างเผือก  สมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้ปรับปรุงบ้านเมืองเพื่อเตรียมรับศึก  รวมทั้งสร้างสัมพันธไมตรีกับพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชแห่งอาณาจักรล้านช้าง  ซึ่งเป็นเหตุให้พระมหินทร  พระราชโอรสของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเกิดความขัดแย้งกับพระมหาธรรมราชา  เจ้าผู้ครองเมืองพิษณุโลก  พระมหินทรจึงได้ให้พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชส่งกองทัพมาช่วยตีเมืองพิษณุโลก  แต่พระมหาธรรมราชาสามารถป้องกันเมืองไว้ได้
          พระเจ้าบุเรงนองทรงทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น  ทรงสถาปนาพระมหาธรรมราชาเป็นเจ้าประเทศราชของกรุงหงสาวดี  ปกครองเมืองพิษณุโลกและหัวเมืองฝ่ายเหนือโดยไม่ขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา  จากการขัดแย้งระหว่างพระมหาธรรมราชากับพระมหินทรทำให้ทางกรุงศรีอยุธยาอ่อนแอลง
 ในปี พ.ศ. 2111  พระเจ้าบุเรงนองยกทัพใหญ่มาหมายตีกรุงศรีอยุธยาให้แตกพ่าย  กองทัพพม่าล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่หลายเดือน  แต่ก็ยังไม่สามารถเข้ายึดได้  เพราะทหารกรุงศรีอยุธยาได้ต่อสู้อย่างเข้มแข็ง  เพื่อรอให้ถึงฤดูน้ำหลาก  ซึ่งจะทำให้กองทัพพม่าตั้งค่ายอยู่ไม่ได้  ระหว่างที่ศึกมาประชิดกรุงนั้น  สมเด็จพระมหาจักรพรรดิประชวรและเสด็จสวรรคตในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2111  พระมหินทรเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์พระนามว่า  สมเด็จพระมหินทราธิราช  และทรงต่อสู้ป้องกันกรุงศรีอยุธยาต่อไป  หลังจากนั้นทางพม่าได้ใช้กลอุบายให้พระยาจักรีมาเป็นไส้ศึก  กรุงศรีอยุธยาจึงเสียแก่พม่าในปี พ.ศ. 2112
          จากเหตุการณ์ในครั้งนี้  ทำให้สมเด็จพระมหินทราธิราชถูกจับไปเป็นเชลยที่หงสาวดี  รวมทั้งข้าราชบริพารอีกจำนวนหนึ่ง  และทำให้กรุงศรีอยุธยาได้กลายเป็นประเทศราชของกรุงหงสาวดีนับแต่นั้นมา  ซึ่งนับเป็นการสูญเสียอิสรภาพของคนไทยเป็นครั้งแรก
การประกาศอิสรภาพและยุทธหัตถี
              หลังจากเสร็จสิ้นสงคราม  พระมหาธรรมราชาได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา  มีพระนามว่า  สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช  ปกครองกรุงศรีอยุธยาสืบต่อมา
          ต่อมาพระเจ้าบุเรงนองได้ส่งพระนเรศวรกลับคืนกรุงศรีอยุธยาหลังจากที่พระองค์ได้อยู่ที่กรุงหงสาวดีเป็นเวลา 6 ปี  สมเด็จพระมหาธรรมราชาโปรดเกล้า ฯ ให้มีพระราชพิธีสถาปนาพระนเรศวรขึ้นเป็นพระมหาอุปราชและส่งไปครองเมืองพิษณุโลก  และระหว่างที่สมเด็จพระนเรศวรประทับอยู่ที่เมืองพิษณุโลก  พระองค์ทรงฝึกฝนไพร่พลให้เข้มแข็งในการศึกสงครามเพื่อเตรียมประกาศเอกราช
 ในปี พ.ศ. 2126  พระเจ้านันทบุเรงกษัตริย์พม่า  ซึ่งเป็นพระราชโอรสพระเจ้าบุเรงนอง  ได้มีคำสั่งให้ทางกรุงศรีอยุธยาซึ่งอยู่ในฐานะเมืองประเทศราชส่งกองทัพไปช่วยปราบปรามเมืองอังวะที่ไม่ยอมอ่อนน้อมต่อหงสาวดี  โดยให้ไปสมทบกับกองทัพของเมืองอื่นที่เมืองแครง  สมเด็จพระมหาธรรมราชาโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพะนเรศวรเป็นผู้นำกองทัพไป
          สมเด็จพระนเรศวรเป็นผู้ที่มีความสามารถในการรบ  ทำให้ฝ่ายพม่าหวาดระแวงว่ากรุงศรีอยุธยาจะแข็งเมือง  จึงหาทางกำจัดพระนเรศวร  แต่พระองค์ทรงทราบแผนการนี้ก่อนจากพระยาเกียรติ์และพระยารามซึ่งเป็นขุนนางชาวมอญ  สมเด็จพระนเรศวรจึงทรงประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง  ไม่ยอมเป็นเมืองขึ้นของกรุงหงสาวดีอีกต่อไป  หลังจากนั้นได้กวาดต้อนผู้คนกลับกรุงศรีอยุธยา
สงครามเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่  2
หลังจากได้ว่างเว้นจากการศึกสงครามภายนอกมาเป็นเวลานาน  ทำให้กรุงศรีอยุธยาไม่ได้เตรียมพร้อมสำหรับการป้องกันพระนคร  ในปี พ.ศ. 2295  พระเจ้าอลองพญาขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์พม่า  และมีพระราชประสงค์จะขยายอาณาเขต  ทรงยกกองทัพมาตีไม่สำเร็จจึงถอยทัพกลับไป  และสิ้นพระชนม์ในระหว่างทางในปี พ.ศ. 2303  พระเจ้ามังระ  ซึ่งเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าอลองพญาขึ้นครองราชย์  พระองค์ทรงสั่งเดินทัพเข้ามา 2 ทาง  โดยทัพแรกมอบให้เนเมียวสีหบดีเป็นแม่ทัพยกทัพมาตีหัวเมืองฝ่ายเหนือของอยุธยา  แล้วให้ย้อนกลับมาตีกรุงศรีอยุธยา  ส่วนทัพที่ 2  มอบให้มังมหานรธาเป็นแม่ทัพยกทัพมาตีเมืองทวายและกาญจนบุรี  แล้วให้มาสมทบกับเนเมียวสีหบดีเพื่อล้อมกรุงศรีอยุธยาพร้อมกัน  กองทัพพม่าล้อมกรุงอยู่นาน 1 ปี 2 เดือน  ทำให้ราษฎรในเมืองอดอยากและหมดกำลังใจต่อสู้
          ระหว่างที่กองทัพพม่าล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่นั้น  พระยาตาก (สิน)  เห็นว่าไม่อาจจะต่อสู้พม่าได้  จึงรวบรวมสมัครพรรคพวกประมาณ 500 คน  ตีฝ่าวงล้อมของกองทัพพม่าออกไปทางทิศตะวันออกและไปตั้งอยู่ที่เมืองจันทบุรี  เพื่อหาฐานที่มั่นวางแผนกลับมาตีกองทัพพม่าต่อไป
          ในที่สุดฝ่ายพม่าที่ตั้งทัพล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่นั้นก็สามารถตีกรุงศรีอยุธยาได้สำเร็จเป็นครั้งที่ 2  ในปี พ.ศ. 2310
          จากเหตุการณ์ในครั้งนี้  ทำให้บ้านเมืองสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่  เพราะพม่าได้ทำลายบ้านเรือนและวัดต่าง ๆ ด้วยการจุดไฟเผา  รวมทั้งกวาดต้อนผู้คนไปเป็นเชลย  และนำทรัพย์สมบัติต่าง ๆ กลับไปเป็นจำนวนมาก  กรุงศรีอยุธยาที่เคยเจริญรุ่งเรืองในอดีตเหลือเพียงซากปรักหักพัง

เหตุการณ์สำคัญทางการเมืองของไทย (ล้มล้างรัฐบาล
หลังพ.ศ. 2475 – ก่อนคณะปฏิรูป
         กบฏบวรเดช

เกิดขึ้นเมื่อ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2476
ผู้นำการเปลี่ยนแปลง คือ พลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช และพระยาศรีสิทธิสงคราม (ถิ่นท่าราบ)
สาเหตุของการเปลี่ยนแปลง  เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยและนำประเทศกลับสู่การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีกครั้ง
ผลของการเปลี่ยนแปลง  คือ ปฏิวัติครั้งนี้ล้มเหลว พวกกบฏถูกฝ่ายรัฐบาลปราบปรามได้สำเร็จ

การรัฐประหาร พ.ศ. 2490


เกิดขึ้นในคืนวันที่ 7 พฤศจิกายน ต่อเนื่องถึงเช้าวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 
ผู้นำการเปลี่ยนแปลง คือ พันเอกหลวงกาจสงครามและพลโทผิน ชุณหะวัน
สาเหตุของการเปลี่ยนแปลง  กรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 และปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวง
            ผลของการเปลี่ยนแปลง  ทำให้จอมพลป.พิบูลย์สงครามกลับมามีบทบาททางการเมืองอีกครั้ง และกลุ่มซอยราชครูมีบทบาทสำคัญทางการเมืองมากขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาแน่นแฟ้นมาก

การรัฐประหาร พ.ศ. 2501


รัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 
ผู้นำการเปลี่ยนแปลง คือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
สาเหตุของการเปลี่ยนแปลง  อ้างสาเหตุจากภัยคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์
 ผลของการเปลี่ยนแปลง  ทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ระบอบเผด็จการอำนาจนิยม

วันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516

ผู้นำการเปลี่ยนแปลง คือ ประชาชน นิสิต นักศึกษา
สาเหตุของการเปลี่ยนแปลง เพื่อต่อต้านเผด็จการทหารที่ครอบงำและลิดรอนสิทธิ์เสรีภาพทางการเมืองของประชาชน
            ผลของการเปลี่ยนแปลง ประเทศไทยเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองอย่างกว้างขวาง และมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2517 (ที่ถือว่ามีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดฉบับหนึ่ง)
 เหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519

ผู้นำการเปลี่ยนแปลง คือ พลเรือเอกสงัด ชลออยู่
สาเหตุของการเปลี่ยนแปลง อ้างว่านิสิตนักศึกษาที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในวันที่ 14 ต.ค. 2516 ได้รับการสนับสนุนจากคอมมิวนิสต์
            ผลของการเปลี่ยนแปลง  ระบอบประชาธิปไตยถูกล้มล้างและกลับไปสู่การปกครองแบบเผด็จการอำนาจนิยมอีกครั้ง สภาพการเมืองขาดเสถียรภาพและเกิดความแตกแยกอย่างรุนแรง

การรัฐประหาร พ.ศ. 2520
ผู้นำการเปลี่ยนแปลง คือ พลเรือเอกสงัด ชลออยู่
สาเหตุของการเปลี่ยนแปลง การคัดค้านนโยบายแบบขวาจัดของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร(เผด็จการโดยพลเรือน)
            ผลของการเปลี่ยนแปลง  มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2521 พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์และพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อมา
การรัฐประหาร พ.ศ. 2534 (รสช.)
ผู้นำการเปลี่ยนแปลง คือ พลเอกสุนทร คงสมพงษ์, พลเอกสุจินดา คราประยูร, พลอากาศเอกเกษตร โรจนนิล
สาเหตุของการเปลี่ยนแปลง การฉ้อราษฎร์บังหลวงของคณะรัฐบาลที่มีพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณเป็นนายกรัฐมนตรี
            ผลของการเปลี่ยนแปลง  นายอานันท์ ปันยารชุน ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี
เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ (17-19 พ.ค. 2535)
ผู้นำการเปลี่ยนแปลง คือ ประชาชนทั่วไป นักเรียน นักศึกษา
สาเหตุของการเปลี่ยนแปลง นักศึกษา ประชาชน และนักการเมืองบางกลุ่ม ร่วมกันต่อต้านการเข้าดำรงตำแหน่งผู้นำของพลเอกสุจินดา คราประยูร
            ผลของการเปลี่ยนแปลง  เกิดเหตุการณ์นองเลือดอีกครั้ง และนายอานันท์ ปันยารชุนกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกฯอีกวาระหนึ่ง